ด้วยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แจ้งสถานการณ์พบการระบาดของโรคไอกรน ซึ่งโรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบทางเดินหายใจ ที่พบมานานแล้ว ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ และมีวัคซีนป้องกัน โรคนี้สามารถติดต่อได้ผ่านการไอ จาม และการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อเข้าไป มักพบการระบาดในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก เป็นต้น โดยสถานการณ์ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 13 พฤศจิกายน 2567 จากระบบเฝ้าระวังโรคดิจิทัล กองระบาดวิทยา (Digital Disease Surveillance: DDS) พบผู้ป่วย 1,290 ราย อัตราป่วย 44.74 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.16 พบรายงานผู้ป่วยมากที่สุดในภาคใต้ ทั้งนี้ กลุ่มผู้ป่วยที่น่าเป็นห่วงคือเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ที่อาจจะได้รับวัคซีนไม่ครบหรือภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงพอ และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรง ส่วนกลุ่มเด็กโต และผู้ใหญ่ที่แข็งแรงดี ที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันไอกรน (รวมคอตีบ บาดทะยัก) ครบตามกำหนด ตั้งแต่ตอนเล็กๆ แล้ว หากป่วยอาการจะไม่รุนแรง มีไข้ น้ำมูก ไปรักษาก็จะดีขึ้น อย่างไรก็ตามหลังอายุ 10 ปี ระดับภูมิคุ้มกันอาจเริ่มตกลง การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ก็จะช่วยลดความรุนแรงจากการป่วยได้