ด้วยจังหวัดระยอง.มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ รย ๐๐๒๓.๖/ว ๑๙๕๘ ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๗ ได้รับแจ้งจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นว่า ขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์มาตรการเฝ้าระวัง และผลกระทบต่อสุขภาพจากโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) และการป้องกันโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๗ เพื่อให้มีการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากจากโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) และป้องกันการระบาดของโรคติดต่อที่เกิดจากอาหารและน้ำในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง การป้องกันภัยสุขภาพที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน จึงขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการประชาสัมพันธ์ ดังนี้
๑. ผื่นจากความร้อน
อาการ มีตุ่มคันสีแดงเล็กๆ มักพบบริเวณคอ หน้าอก ใต้ราวนม รักแร้ ขาหนีบข้อพับแขน..และขา
สาเหตุ เกิดจากการระคายเคืองของผิวหนังจากเหงื่อออกมาก
การรักษา/การป้องกัน (๑) อยู่ในที่อากาศเย็น เพื่อลดการเหงื่อออก
(๒) อาบน้ำบ่อยๆ รักษาความสะอาดของผิว
(๓) สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
(๔) ทายาที่มีฤทธิ์ช่วยลดอาการคัน
๒. บวมจากความร้อน
อาการ บวม โดยเฉพาะบริเวณเท้า มักเกิดในช่วง ๒ - ๓ วันแรก ที่สัมผัสอากาศร้อน
สาเหตุ เกิดจากความร้อนทำให้หลอดเลือดที่ผิวหนังขยายตัว และมีสารน้ำคั่งอยู่ที่ข้อเท้าและขา .ทำให้เกิดอาการบวม
การรักษา/การป้องกัน (๑) อาการบวมสามารถหายเองได้
(๒) ไม่ควรใช้ยาขับปัสสาวะ
(๓) ควรพักผ่อนให้เพียงพอและนอนยกขาให้สูง
๓. ตะคริวจากความร้อน
อาการ กล้ามเนื้อหดเกร็งเฉียบพลัน มักเกิดบริเวณหน้าท้อง แขน ขา
สาเหตุ เกิดจากการสูญเสียเกลือแร่ จากการเสียเหงื่อเป็นจำนวนมาก
การรักษา/การป้องกัน (๑) ควรพักทันทีในที่ร่มและเย็น
(๒) นวดเบาๆ ตรงที่เป็นตะคริวสลับกับการยืดกล้ามเนื้อ
(๓).ดื่มน้ำสะอาดหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป
(๔) หากเป็นตะคริวนานกว่า ๑ ชั่วโมง ควรปรึกษาแพทย์
๔. เป็นลมแดด
อาการ หน้ามืด วิงเวียนหัว และเป็นลมหมดสติ พบบ่อยในผู้ที่ไม่เคยชินกับอากาศร้อน สาเหตุ ร่างกายพยายามขับความร้อนส่วนเกินออก โดยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
การรักษา/การป้องกัน (๑) ควรพักในที่ร่มและเย็น นอนหงายลงกับพื้น เหยียดแขนขา
(๒) ใช้หมอนหรือสิ่งอื่นรองชา และเท้าให้สูงกว่าลำตัว
(๓) คลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า และบีบนวดแขน ขา
(๔) หากอาการไม่ดีขึ้นใน ๓๐ นาที ควรรีบไปพบแพทย์
๕. เพลียแดด
อาการ เหงื่อออกมาก อ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว เวียนหัว สับสน มึนงง คลื่นไส้อาเจียน และ อาจเป็นลม
สาเหตุ .เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในที่อากาศร้อนจัด ทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่จากการเสียเหงื่อเป็นจำนวนมาก และเกิดภาวะขาดน้ำ
การรักษา/การป้องกัน (๑) ย้ายผู้ป่วยไปอยู่ในที่ร่มและเย็น หรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ
(๒).ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออกให้เหลือเท่าที่จำเป็นเพื่อระบายความร้อน
(๓).จับผู้ป่วยนอนราบ ใช้หมอนหรือสิ่งอื่นรองขาให้สูงกว่าลำตัว
(๔).ห่มด้วยผ้าเปียกและใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอรักแร้และขาหนีบ
(๕) หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที