ด้วยจังหวัดระยองได้รับแจ้งจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นว่า ขอความร่วมมือดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยสถานการณ์การขาดสารไอโอดีน พ.ศ. ๒๕๕๗-๒๕๕๙ จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีนในกลุ่มเสี่ยง ๓ กลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุ ๓ – ๕ ปี และผู้สูงอายุ โดยการสุ่มตรวจปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะหญิงที่มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล ก่อนได้รับยาเสริมไอโอดีนจังหวัดละ ๓๐๐ คน เด็กอายุ ๓ – ๕ ปี และผู้สูงอายุ สุ่มตรวจปัสสาวะกลุ่มละ ๑๕๐ คนต่อจังหวัด พบว่าค่ามัธยฐานไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ เป็น ๑๕๕.๗, ๑๔๗.๑ และ ๑๔๕.๐ ไมโครกรัมต่อลิตร ค่ามัธยฐานไอโอดีนในปัสสาวะของเด็กอายุ ๓ –๕ ปี เป็น ๒๓๔.๖, ๒๐๐.๑ และ ๒๐๒.๓ ไมโครกรัมต่อลิตร และค่ามัธยฐานไอโอดีนในปัสสาวะของผู้สูงอายุ เป็น ๑๑๑.๓, ๑๑๒๗และ ๑๑๖.๘ ไมโครกรัมต่อลิตร ตามลำดับโดยค่ามัธยฐานไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ ต้องไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ไมโครกรัมต่อลิตร และค่ามัธยฐานในปัสสาวะในเด็ก ๓ – ๕ ปี และผู้สูงอายุต้องไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ไมโครกรัมต่อลิตร ประกอบกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้แจ้งแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ เงินอุดหนุนทั่วไป เงินอุดหนุนสำหรับดำเนินโครงการพระราชดำริด้านสาธารณสุข และขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งชุมชน/หมู่บ้าน พิจารณาจัดทำโครงการตามพระราชดำริด้านสาธารณสุขอย่างน้อย ๓ โครงการ เพื่อเสนอขอรับงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน/หมู่บ้านแห่งละ ๒๐,๐๐๐ บาท โดยมีตัวอย่างโครงการ เช่น โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์ โครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านม การควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๕ กำหนดให้วันที่ ๒๕ มิถุนายนของทุกปี เป็นวันไอโอดีนแห่งชาติ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ซึ่งสภานานาชาติเพื่อการควบคุมการขาดสารไอโอดีน (International Council for Control of lodine Deficiency Disorders, ICCIDD) ได้ทูลเกล้าถวายเหรียญทอง ICCIDD แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับรางวัลนี้ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๐ ประกอบกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นองค์ประธานกรรมการคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ
ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมรณรงค์ในการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง จึงขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีน อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยให้ถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องและสามารถร่วมดำเนินการ รวมทั้งปรึกษาการดำเนินงานได้จากศูนย์อนามัยเขตที่ ๑ – ๑๒ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง โดยดำเนินการ ดังนี้
๑. ประสานหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อคัดกรองหรือค้นหาผู้ที่มีภาวะพร่องหรือขาดสารไอโอดีนในครัวเรือนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
๒. เมื่อพบผู้ที่มีภาวะพร่องหรือขาดสารไอโอดีนในพื้นที่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีนของประชาชน โดยสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสมกับบริบทและศักยภาพของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้
๒.๑ ส่งเสริมและสนับสนุนการให้ความรู้เรื่องไอโอดีน ตลอดจนการเลือกใช้ การเก็บรักษา และวิธีใช้เกลือเสริมไอโอดีน และผลิตภัณฑ์ปรุงรสเสริมไอโอดีน ในหลายช่องทาง เช่น เสียงตามสาย แผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ วิทยุชุมชน เป็นต้น
๒.๒ ขอความร่วมมือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรุงอาหารกลางวันโดยใช้เกลือเสริมไอโอดีนและผลิตภัณฑ์ปรุงรสเสริมไอโอดีน
๓. ประสานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ รณรงค์ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนให้ความรู้แก่ประชาชนในการใช้เกลือเสริมไอโอดีนปรุงและประกอบอาหารในครัวเรือน
๔.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานการขับเคลื่อนโครงการตามพระราชดำริด้านการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพื้นที่ ตามแบบรายงานออนไลน์ได้ที่
https://goo.gl/UJcWCS หรือ OR - code ที่กำหนด ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทราบ ภายในวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑
โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทาง
www.rayonglocal.go.th,
www.dla.go.th รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้
เพื่อให้การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีน เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด จึงขอความอนุเคราะห์ท่านแจ้งประชาสัมพันธ์สื่อให้ความรู้ “สมองดี เริ่มที่ไอโอดีน” และอินโฟกราฟิก (Infographic) ไอโอดีน เพื่อเป็นความรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน