วัดบ้านแลง มรดกจากปลายอยุธยา แหล่งโบราณคดีและแหล่งเรียนรู้ทางศิลป-
วัฒนธรรมของจังหวัดระยองมีความน่าสนใจให้เที่ยวชมมากมาย อย่างเช่น "วัดบ้านแลง"
ของเก่าคู่บ้านคู่เมืองกว่าสามร้อยปีแต่ยังคงความงดงามและมีความร่วมสมัย ซึ่งคนรุ่น
หลังได้ร่วมชื่นชมอย่างภาคภูมิใจ
วัดเก่าในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา วัดแลงก่อสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาปี พ.ศ.
๒๒๘๕ ในยุคปลายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยนายจันทร์ยกที่ดินให้
สร้างวัด ตั้งชื่อว่า “วัดจันทร์สุวรรณโพธิธาราม” ต่อมาชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดแลง” ตาม
พื้นที่ที่ขุดลงไปเจอศิลาแลง และเรียก “วัดบ้านแลง” ตามชื่อของตำบลที่ตั้ง เดิมเป็น
สำนักสงฆ์ ได้รับพระราชทานบรรจุพัทธสีมาการสร้างโบสถ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๕ โดยพระ
อุโบสถหลังเก่าแก่นี้มีกำแพงแก้วล้อมรอบ เสากลมรองรับจั่นหัว ด้านหน้าของพระ
อุโบสถมีชายคาพาไลอันเป็นเอกลักษณ์ของอยุธยาตอนปลาย มีประตูทางเข้าขนาด
ใหญ่หนึ่งบาน เป็นลักษณะโบสถ์มหาอุด คือเข้าออกทางเดียว หลังคาซ้อนกัน ๒ ชั้น
หลังคา ๓ ตับ มีใบเสมาซึ่งเป็นแผ่นหินที่บอกขอบเขตว่าพื้นที่ที่มีใบเสมาล้อมรอบทั้ง ๘
ทิศเป็นพื้นที่บริสุทธิ์ พระสงฆ์ประกอบสังฆกรรมได้ เช่น การบวช การสวดปาติโมกข์
นอกจากใบเสมาที่เป็นหิน ซึ่งเรียกว่า พัทธสีมา
ยังมีการขุดสระน้ำล้อมรอบที่เรียกว่า นทีสีมา หรือ อุทกสีมา ทำให้วัดบ้านแลงมี
เสมา ๒ แบบล้อมรอบ ทั้งเสมาหินและเสมาน้ำ ถือได้ว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ขณะที่หน้าบันทั้ง
ด้านหน้า ด้านหลัง และตามเหนือช่องหน้าต่างทั้งหมดประดับด้วยเครื่องปั้นดินเผา มีทั้ง
เครื่องลายคราม ภาชนะดินเผาเคลือบขาวเขียนลายสีน้ำเงินจากประเทศจีน เครื่อง
เบญจรงค์สมัยอยุธยาตอนปลาย รวมทั้งภาชนะดินเผาสมัยรัชกาลที่ ๕ แสดงให้เห็นว่ามี
การซ่อมแซมในสมัยรัตนโกสินทร์และเป็นวัดที่ได้รับการดูแลมาโดยตลอด เมื่อเข้าไป
ภายในพระอุโบสถสัมผัสได้ถึงความเรียบง่ายขรึมขลัง พระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย มี
ลักษณะเด่นที่พระพักตร์แบบฝีมือช่างพื้นถิ่น ใบหูแหลม พระเกศาขมวดเล็กแหลม รัศมี
เปลวเพลิงบนอุษณีษะมีร่องรอยกรอบพระพักตร์ค่อนข้างชัดเจน พระนาสิกใหญ่
พระโอษฐ์หนา
พระปรางค์วัดบ้านแลง
พระเจดีย์ทรงปรางค์ ทางด้านข้างของพระอุโบสถ มีรูปทรงแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ด้านล่างสุดเป็นฐานเขียง ๒ ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานสิงห์ ฐานบัวคว่ำบัวหงายที่มีท้องไม้ยึด
สูง และฐานสิงห์ ๑ ชั้น ส่วนที่น่าจะเป็นเรือนธาตุถูกย่อส่วนทำเป็นรูปครุฑแบกที่มุมและ
ด้านของเจดีย์ ส่วนยอดทำคล้ายเรือนธาตุจำลองซ้อนชั้นที่มีขนาดเล็กและประดับด้วย
กลีบขนุนซึ่งเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงปรางค์ และมีการทำให้ส่วนยอดสูงเพรียวอันเป็น
พัฒนาการในยุคหลังของเจดีย์ทรงปรางค์ ส่วนล่างของยอดนี้มีซุ้มจระนำยื่นออกมาทั้ง ๔
ด้าน บนยอดสุดประดับด้วยนพศูล โดยก่อนหน้านี้พระปรางค์ความสูง ๑๗.๐๘ เมตร
ฐานสี่เหลี่ยม วัดโดยรอบยาว ๒๐.๕๐ เมตร มีสภาพชำรุดแตกร้าว ต่อมาได้บูรณะ
ซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว
หอไตรกลางน้ำ
สิ่งสำคัญสุดที่ยังคงรูปแบบของวัดดั้งเดิมสมัยอยุธยาคือ การสร้างหอไตรกลางน้ำ เพื่อ
เป็นการป้องกันมดปลวกต่าง ๆ เพราะสมัยโบราณไม่มียาฆ่าแมลง เวลาที่พระภิกษุ
สามเณรต้องการอ่านพระคัมภีร์ พระไตรปิฎกต่างๆ จะต้องพายเรือเข้าไป เพราะไม่มี
สะพานเชื่อมไปถึง แต่เดิมนั้นสระมีขนาดใหญ่ หอไตรสร้างด้วยไม้ทั้งหลังตั้งอยู่กลางน้ำ
เพิ่งได้รับการซ่อมแซมโดยทำทางเดินเป็นสะพานเชื่อมเข้าไป มีระเบียงซีเมนต์ทางซ้าย
และขวา เพื่อให้พระภิกษุเข้าถึงได้สะดวก
ที่อยู่ : หมู่ที่ ๑ ถนนหนองพญา-ก้นหนอง ตำบลบ้านแลง อำเภอเมืองระยอง
จังหวัดระยอง
ที่มา : นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 56 เรื่องและภาพ : ปิยะลักษณ์ นาคะโยธิน
https://anurakmag.com/art-and-culture/