ผืนเมฆอาบสีส้มแดงปรากฏตรงตีนฟ้า อากาศสะสะอ้านรอบด้านเงียบเซียบสงบงาม แว่วเสียงนกน้ำนานาชนิด
อยู่ไกลๆ เรายืนอยู่ริมตลิ่งใกล้สำนักงานและโรงเรือนเพาะชำกล้าพันธุ์ไม้ของสวนพฤกษศาสตร์ระยอง บึงน้ำกว้าง
แถบบริเวณชายฝั่งทะเล พื้นที่ชุ่มน้ำขนาดประมาณ 3,800 ไร่ ที่ประกอบขึ้นด้วยป่าพรุ หนองบึง และป่าบก
หลายคนสงสัยในความพิเศษและความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศของพื้นที่ประเภทนี้ คล้ายเป็นเรื่อง
ห่างไกลและเข้าใจยาก ทว่าเวลาวันสองวันกับใครบางคนที่นี่ คล้ายพวกเขากำลังคลี่ขยายภาพรายรอบบึงน้ำตรงหน้า
ให้เราฟังผ่านความงดงาม “รวม ๆ แล้วที่นี่มีความหลากหลายของพืช สัตว์น้ำ และสัตว์บก ที่เชื่อมโยงกับความเป็นอยู่
ของคนรอบๆ ค่ะ เรามีป่าเสม็ดเหมือนภาพแรกที่คนทั่วไปจะนึกถึง”
ห่างจากฝั่งออกมาเรื่อยๆ ลมแรงกลางมวลน้ำเย็นชื่น แดดเช้าฉายอาบจนสีสันของธรรมชาติรายรอบหนองจำรุง
ปรากฏชัด บัวแดงและบัวหลวงคลี่ผืนห่มคลุมผืนน้ำเป็นจุดสีชมพู ม่วง สวยงามยามเมื่อมองจากไกลๆ “ในหนองเต็มไป
ด้วยสังคมพืชน้ำหลากหลายค่ะ มันบ่งบอกว่าที่นี่ยังคงสมบูรณ์ และยังสำคัญกับคนที่เข้ามาหาปลา เก็บผักหญ้าต่างๆ”
เราค่อยๆ ทำความรู้จักหนองจำรุง หรือ “บึงสำนักใหญ่” กลางการล่องไปเหนือผืนน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ตั้งอยู่
ในห้อมล้อมของขุนเขา และทะเล ทั้งเขาหินตั้ง เขาช่องดับ เขาคอย และทะเลอ่าวไทย การทับถมของตะกอนทราย
และเศษซากพืชเดิม รวมถึงการเป็นป่าพรุที่มีน้ำขังตลอดปีมีส่วนทำให้หนองน้ำแห่งนี้เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
พรรณไม้รายล้อมอันมากมายยากจดจำ ทั้งจิกนา ปอทะเล สนุ่นชูช่อเป็นกอสวย ตะแบกนายืนต้นสูงกระจูด หญ้าแซม
ผักตบชวา หรือพืชลอยน้ำอย่างจอกหูหนู กระเฉดกกสามเหลี่ยม ธูปฤาษี ฯลฯ คล้ายเราเห็นโลกกลางบึงละเอียดลึกลงไปอีก
“แทบทุกอย่างคนแถบนี้นำไปใช้ประโยชน์ได้หมดค่ะ ทั้งเป็นอาหาร นำไปทำเครื่องใช้ เครื่องจักสาน หรือยาแผนโบราณ”
ทางสวนพฤกษศาสตร์มีการตกลงกำหนดเขตการใช้พื้นที่ในบึงสำนักงานใหญ่เป็นสัดส่วน ทั้งส่วนอนุรักษ์เพื่อการศึกษา พื้นที่เปิด
เพื่อการท่องเที่ยว หรือพื้นที่สำหรับกินใช้ของชาวบ้าน
ลัดเลาะผ่านเกาะแก่งหลายเหลี่ยมมุม นกน้ำและนกทุ่งหลากหลายตื่นเพริกกับการมาถึงของเรือยนต์ นกปากห่างบิน
กระจายฝูง อ้ายงั่วนั้นราวกับเฒ่าชราผู้ง่วงงัน เกาะกิ่งเสม็ดแห้งผึ่งแดด ขณะกาน้ำเล็ก กระสาแดง ยางเปีย ยางควาย อีโก้ง
หรืออีแจว ดูจะเป็นแก๊งที่คอยเฝ้าผืนน้ำ “ที่นี่พบนกกว่า 69 ชนิดค่ะ ทั้งในบึง ตามชายทุ่ง ตามสวน หรือแม้แต่นกอพยพ เช่น
นกปรอด กระจิบหญ้า กระปูด นกตระกูลยางต่างๆ ฯลฯ” ผืนหญ้าตรงหน้านั้นราวแผ่นดินกว้างไกล ที่จริงเรายังลอยล่องเสียบ
เลาะอยู่ในมวลน้ำกลางบึง โดยแท้ชาวบ้านเรียกความพิเศษตรงบริเวณนี้ว่า “แพหนังหมา” มันคืกลุ่มหญ้าหนังหมาที่ทับถมกัน
เป็นชั้นหนากว่า 60-100 เซนติเมตร ลอยลำเป็นผืนใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เป็นแพกลางน้ำอันเต็มไปด้วยความหลากหลายของ
พันธุ์พืชจนน่าสนใจ สัมผัสแรกยามเทาเหยียบไปบนแพหนังหมาคือความหยุ่นยวบโคลงเคลง แต่ก็มั่นใจได้ในความหนานุ่ม
ของมันที่จะไม่ทะลุจนถึงผิวน้ำ เราโลดแล่นราวเด็กน้อย กลางทุ่งกว้าง เดินถ่ายรูปหามุมแปลกตากันได้ไม่หยุดหย่อน
ดงกระจูดใหญ่โตวางตัวอยู่ในฟผืนน้ำหลายช่วงที่เราเคลื่อนเรือผ่านไม้ล้มลุกตระกูลเดียวกับกกที่ลำต้นกลมและภายในกลวง
ชนิดนี้พบมากในภาคใต้ แต่ในภาคตะวันออกพบมากที่สุดก็คือที่นี่ กระจูดผูกพันกับคนแถบนี้มาเนิ่นนาน โดยเฉพาะบ้าน
มาบเหลาชะโอน ไม่ไกลจากหนองจำรุง พวกเขาสืบทอดการนำกระจูดไปสานทำภาชนะและเครื่องใช้สอยมานานกว่า 200 ปี
ชัดเจนที่สุดก็ในนิราศเมืองแกลงของกวีศรีรัตนโกสินทร์อย่างสุนทรภู่ที่กล่าวถึงกระจูดและพื้นที่แถบนี้ไว้ว่า ถึงศาลเจ้าอ่าวสมุทร
ที่สุดหาด เลียบลีลาศขึ้นตามช่องที่คลองขวาง ถึงบ้านแกลงลัดบ้านไปย่านกลาง เห็นฝูงนางสานเสื่อนั้นเหลือใจ แต่ปากพรอดมือ
สอดขยุกขยิก จนมือหงิกงอแงไม่แบได้ เป็นส่วยบ้านสานส่งเข้ากรุงไกร เด็กผู้ใหญ่ทำเป็นไม่เว้นคน กระจูดในภาพสะท้อนบ้าน
เมืองในสายตาของสุนทรภู่นั้น ไม่ได้เป้นแค่เครื่องใช้ตามครัวเรือน แต่ยังสานกันเพื่อส่งเป้นส่วยเข้าสู่พระนคร
แดดสายเพิ่มความแรงร้อน เราเทียบเรือตรงท่าใกล้สำนักงานของสวนพฤกษศาสตร์ระยอง ขนมพื้นบ้านอย่างข้าวเหนียวยัด
ไว้ในเนื้อขนุนและน้ำสมุนไพรเย็นฉ่ำ ดับร้อน ขณะที่ใครสักคนมองไกลไปยังป่าสีเขียวที่โอบล้อมบึงอยู่อีกฟากด้าน จูงจักรยานและ
เหนี่ยวนำเราเข้าไปสู่โลกแห่งแมกไม้และนานาชีวิตบนแผ่นดินกลางน้ำของบึงสำนักใหญ่ โลกที่เป็นสีเขียวอยู่ทุกฤดูกาล เต็มไปด้วย
ภาพสะท้อนในความสมบูรณ์ชื่นเย็นของบึงน้ำสามพันกว่าไร่แห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง ป่าเสม็ดตรงนี้อยู่ตรงรอยต่อกับบึงและ
แผ่นดินใหญ่ กินเนื้อที่กว่า 400 ไร่ มันสมบูรณ์ที่สุดในภาคตะวันออกค่ะ แต่เดิมเสม็ดที่นี่ถูกใช้ไปในการดำรงชีพของชาวบ้าน
รายรอบ พวกเขาจะลอกเปลือกที่หนาของมันออกเป็นชั้นๆ เอาไปทำฝาบ้านหรือมุงหลังคาส่วนลำต้นอันแกร่งกล้านั้นนำไป
เผาถ่านร่วมกับไม้โกงกางอื่นๆ ในยุคที่บ้านเราเปิดสัมปทานถ่านไม้อย่างถูกกฎหมาย ใครต่อใครก็เรียกดงเสม็ดตรงนี้ว่า
“ป่าเสม็ดพันปี” มันกระจัดกระจายยืนต้นโชว์รูปทรงหงิกงอชวนให้จินตนาการพรึงเพริด เราปั่นผ่านและแวะจอดชมมัน
ไม่รู้กี่รอบยามที่เข้าถึงพื้นที่สำคัญอีกส่วนของหนองจำรุง สะพานไม้สีแดงสดพาเราข้ามไปสู่ “เกาะกลางน้ำ”
ห้าเกาะในหนองซึ่งวางตักระจัดกระจายและเต็มไปด้วยพืชพรรณในป่าหลากหลายแบบทั้งเกาะแต้วใหญ่ เกาะแต้วเล็ก
เกาะชะมวง เกาะกก และเกาะนรก “ชื่อเกาะล้วนบอกถึงพืชเด่นๆ บนนั้นค่ะ ส่วนเกาะนรกนั้น แต่เดิมเรียกเกาะไม้หนาม
เราเปลี่ยนชื่อให้มันดูน่าสนใจ เหมาะกับการท่องเที่ยว” เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่เชื่อมเกาะทั้งห้าเข้าไว้ด้วยกันนั้นเต็มไป
ด้วยความร่มรื่นหลากหลาย เป็นระบบนิเวศที่เชื่อมต่อกันอย่างน่าทึ่งของบึงน้ำ ป่าพรุ ป่าดิบแล้ง ป่าเสม็ด กับชีวิตชุมชน
ทั้งผักพื้นบ้าน พืชสมุนไพร ลานดินโป่ง ทุ่งหญ้าชุ่มน้ำ ไม้หนาม ป่าพรุ ฯลฯ
นอกจากนั้นยังมีโรงเรือนเฉพาะชำศึกษาและจำหน่ายพืชพรรณอันหลากหลายด้านบน ที่รวบรวมทั้งไม้ดอก เฟิร์น
ไม้ประดับ หรือไม้ผลที่พบมากในภาคตะวันออก เราพบตัวเองอีกทีขณะลอยลำอยู่ด้วยคายักสีสด กลางบึงน้ำกว้างใหญ่
นกอ้ายงั่วโผบินโชว์ลำคอเหยียดยาวจากยอดไม้ มันสงบร่มรื่นราวกับเป็นโลกส่วนตัวที่มีเพียงหนองน้ำผืนป่า และป่าหลาก
หลายประเภทหลอมรวมกันอยู่ในพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ชีวิตในบึงน้ำคงเป็นเช่นนี้ เต็มไปด้วยความหลากหลายและแปลกแยก
แตกต่าง แต่เมื่อหลอมรวมเข้าด้วยกันก็กลับกลายเป็นความสำคัญอันล้นค่ายากนักที่จะฉีกแยกและละทิ้งสายใยชีวิตอัน
สัมพันธ์โยงใยชีวิตเข้าด้วยกันอย่างเงียบเชียบ
ที่มา : อนุสาร อสม.
ที่อยู่ : ม.2 ต.ชากพง, Chak Kra Phung, Thailand, Rayong
เบอร์โทร : 038 638 880